ช่วงที่ 3: อนาคตและวิสัยทัศน์

ช่วงที่ 3: อนาคตและวิสัยทัศน์

เมื่อวานนี้มีการจัดงานเสวนาบอกเล่าความในใจเกี่ยวกับการทำงานในประเทศญี่ปุ่นของชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ในคลิปวิดีโอที่บันทึกบรรยากาศของงานเสวนามีคุณอิโต ยูโกะจากศูนย์ส่งเสริมการวิจัยขั้นสูง มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ฮอกไกโด และรองศาสตราจารย์ซึสึกิ โทชิฟุมิจากมหาวิทยาลัยชิสึโอกะเป็นผู้ดำเนินรายการ โดยมีการพูดคุยกันระหว่างชาวต่างชาติที่ทำงานในญี่ปุ่นมากมาย โดยเฉพาะเสน่ห์ของประเทศญี่ปุ่น ตลอดจนถึงปัญหาและการแก้ไข

Contents:

ในช่วงที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของคลิปวิดีโองานเสวนานี้ จะมีการพูดคุยกับชาวต่างชาติในญี่ปุ่น 11 คนที่ออกมาตอบคำถามในช่วงที่ 1 และ 2 แล้วอีกครั้ง ครั้งนี้จะเป็นคำถามในหัวข้อ “อนาคตและวิสัยทัศน์”

อิโต: สวัสดีค่ะ ในช่วงที่ 3 ของงานเสวนาบอกเล่าความในใจเกี่ยวกับการทำงานในประเทศญี่ปุ่นของชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นนี้ ชาวต่างชาติจากช่วงที่ 1 และ 2 ยังอยู่ในรายการต่อเช่นเดียวกับอาจารย์ซึสึกิค่ะ ครั้งนี้จะมีคำถามเกี่ยวกับอนาคตและมุมมองหลังจากนี้ค่ะ

ก่อนอื่นจะขอถามทุกท่านว่าในระหว่างการทำงานในญี่ปุ่น มีสิ่งใดที่รู้สึกแปลก ๆ หรืออยากให้เปลี่ยนแปลงไหมคะ ถ้ามี เชิญอธิบายได้เลยค่ะ

 

คุณทิฟฟานี (ฟิลิปปินส์): คนญี่ปุ่นจะทำงานล่วงเวลาและนัดพบกันบ่อยมาก แต่เชื่อว่าจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ถึงแม้ว่าโรคโควิด-19 จะสงบลงแล้ว ก็จะยังคงมีการทำงานทางไกลต่อไป ก็เลยคิดว่าน่าจะมีการปรับปรุงการทำงานให้มีความยืดหยุ่นและเป็นไปตามหลัก Work-life balance ด้วยการสร้างตารางเวลาทำงานที่ปรับเปลี่ยนได้ และถ้าสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ทำงานได้สะดวกทั้งผู้หญิงและคนพิการ จะทำให้ธุรกิจญี่ปุ่นดูมีเสน่ห์มากขึ้นค่ะ

 

คุณเลิฟลี (ฟิลิปปินส์): ที่ญี่ปุ่นมีคนบ้างานหลายคน นอกจากคนญี่ปุ่นแล้ว คนต่างชาติที่ทำงานในญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มเป็นแบบนี้เหมือนกันไม่ว่าจะเป็นงานแบบไหนค่ะ

 

คุณสเตลล่า (ฟิลิปปินส์): ที่จังหวัดนางาโนะที่ดิฉันทำงานอยู่ เวลาที่ทำงานจนดึกแล้วบางทีจะไม่มีบริการขนส่งสาธารณะให้กลับ คนต่างชาติที่มาญี่ปุ่นได้ไม่นานส่วนใหญ่ก็จะลำบากตรงที่ไม่ได้เอารถมาด้วย ที่ฟิลิปปินส์ที่เป็นประเทศเกิดของดิฉันมีรถจิ๊ปนีย์ (รถโดยสาร) วิ่งตลอดทั้งวัน ซึ่งก็สะดวกอยู่นะคะ…

 

คุณเหวียน (เวียดนาม): สิ่งที่คิดว่าแปลกก็คือ “โนมินิเคชั่น (การสร้างมิตรภาพด้วยการกินดื่ม)” ค่ะ และที่เข้าใจยากก็คือการเอาเรื่องส่วนตัวมารวมกับงาน จริง ๆ แล้วคนเวียดนามเองก็มีการสังสรรค์ในงานอีเวนท์หรืองานปาร์ตี้ใหญ่ ๆ เหมือนกัน แต่ไมถึงกับสังสรรค์กันทุกสัปดาห์นะคะ…

 

ซึสิกิ: คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับ “โนมินิเคชั่น” ที่เป็นกิจกรรมที่จะได้บอกเล่าความในใจ แต่อาจจะไม่เป็นที่คุ้นเคยสำหรับชาวต่างชาติที่ให้ความสำคัญกับการทำงานและเวลาส่วนตัวเท่า ๆ กัน พอมาคิดทบทวนดูแล้ว ผมกับอาจารย์อิโตก็มีข้อที่แสดงถึงความเป็นคนบ้างานเหมือนกันครับ

 

คุณลิน (เวียดนาม): อันนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกนะคะ ดิฉันรู้สึกตกใจที่เห็นว่าน้ำประปาในญี่ปุ่นสามารถดื่มได้เลย ที่เวียดนามต้องเอาไปต้มก่อนถึงจะดื่มได้

 

คุณโห่ย (เวียดนาม): ที่ญี่ปุ่นมีเครื่องขายของอัตโนมัติหลายเครื่องเลย นอกจากเครื่องดื่มแล้ว ยังมีของประเภทอื่น ๆ ขายด้วย รู้สึกตกใจมากค่ะ

 

อิโต: เรื่องทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่คนที่อยู่ญี่ปุ่นมาตั้งแต่เกิดอาจจะไม่ทราบนะคะ แต่เมื่อมองในมุมของคนต่างชาติแล้ว เรียกได้ว่าญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์จริง ๆ ค่ะ ถ้างั้นจะขอถามทุกท่านเกี่ยวกับมุมมองในอนาคตนะคะ ทุกท่านตั้งใจว่าจะทำงานในญี่ปุ่นต่อไป, เก็บเกี่ยวหาประสบการณ์ในญี่ปุ่น หรือจะกลับไปทำงานในประเทศเกิดคะ

 

คุณอะกุน (อินโดนีเซีย): ผมชอบญี่ปุ่น แต่ก็ตั้งใจว่าจะนำความรู้ที่ได้ในญี่ปุ่นกลับไปอินโดนีเซียเพื่อเปิดบริษัทของตัวเองตามที่ฝันไว้ ผมเคยทำไกด์ทัวร์สำหรับชาวต่างชาติในญี่ปุ่น ถ้าได้กลับไปแล้วตั้งใจว่าจะเปิดบริษัททัวร์ครับ อีกอย่าง ที่ญี่ปุ่นก็เปิดรับคนฝึกอาชีพชาวต่างชาติด้วย เชื่อว่าองค์กรที่ส่งคนอินโดนีเซียที่กำลังเรียนอยู่ไปญี่ปุ่นจะมีอนาคตไกลแน่นอนครับ จะรวยก็คราวนี้แหละครับ (หัวเราะ)

 

คุณอายุ (อินโดนีเซีย): ดิฉันก็ตั้งใจว่าจะกลับไปอินโดนีเซียเหมือนกันค่ะ ตั้งใจว่าจะเป็นครูสอนภาษาญี่ปุ่นหรือไม่ก็ไกด์ที่สามารถแปลภาษาได้ค่ะ

 

คุณถิลี (ศรีลังกา): ดิฉันตั้งใจว่าจะอาศัยอยู่ที่ญี่ปุ่นต่อค่ะ งานที่ทำในตอนนี้ก็เข้าสู่เดือนที่ 4 แล้วตั้งแต่ที่เริ่มทำมา เหตุผลหนึ่งก็คือรู้สึกสนุก 4 ปีที่แล้วเคยทำงานเกี่ยวกับการท่องเที่ยว แต่ต้องหยุดไปเพราะการระบาดของโรคโควิด-19 งานทั้งหมดก็ต้องหยุดไปด้วย เราเห็นว่าแบบนี้ไม่ได้การแน่ ๆ ก็เลยพยายามหางานใหม่ แต่ไม่มีงานที่พอจะนำประสบการณ์ของเราเองมาประยุกต์ใช้ได้เลย สุดท้ายก็ตัดสินใจท้าทายกับสิ่งใหม่ ๆ และตอนนี้ก็ทำงานเกี่ยวกับการค้าขาย แทบจะเรียกได้ว่าต้องเริ่มต้นจากศูนย์เลย แต่ดีที่คนในบริษัทชาวญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี จึงตั้งใจว่าจะทำงานให้ได้นานที่สุดค่ะ

 

อิโต: เห็นทุกท่านค้นพบเส้นทางใหม่เมื่อเจอวิกฤติโควิดที่หนักหนาสาหัสแล้วรู้สึกนับถือมากเลยค่ะ และความมุ่งมั่นในการพัฒนาทักษะโดยไม่ย่อท้อจะเป็นกำลังใจสำคัญให้แก่คนที่อยากทำงานในญี่ปุ่นด้วยค่ะ

 

อศินี (ศรีลังกา): ดิฉันจะกลับไปศรีลังกาเพื่อสร้างบ้านพักคนชราและอยู่ด้วยกันกับพ่อแม่ค่ะ

 

คุณสิธูมินี (ศรีลังกา): ดิฉันจะศึกษาเรื่องการดูแลบริบาลต่อไปเพื่อจะทำงานในญี่ปุ่นค่ะ ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ปลอดภัยและอยู่ง่ายสมกับเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วค่ะ

 

ซึสึกิ: เห็นชาวต่างชาติแต่ละท่านจะทำงานด้านการดูแลบริบาลแล้วรู้สึกดีใจครับ

 

อิโต: เราได้นำเสนอรายการครบทั้ง 3 ช่วงแล้ว มาถึงช่วงสุดท้ายของงานเสวนาบอกเล่าความในใจเกี่ยวกับการทำงานในประเทศญี่ปุ่นของชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นแล้วนะคะ รบกวนอาจารย์ซึสึกิกล่าวสรุปให้ได้ไหมคะ

 

ซึสึกิ: ขอบพระคุณทุกท่านมากครับ ดูจากลักษณะของงานแล้ว รู้สึกประทับใจที่ได้พูดคุยเรื่องการทำงานมากมาย แล้วก็การที่ได้พูดคุยเรื่องความเป็นอยู่ด้วยก็น่าจะเป็นลักษณะเด่นด้วยครับ

อีกอย่างหนึ่ง มีบางท่านตั้งใจว่าจะกลับประเทศเกิดในอนาคตด้วย ผมรู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่งที่เห็นแต่ละท่านไม่ได้แค่ย้ายที่ทำงาน แต่ต้องการทำงานที่ “ต่อยอด” ไปสู่การนำทักษะที่ได้เรียนที่ญี่ปุ่นกลับไปใช้ในประเทศเกิดของตนเองด้วยครับ

 

อิโต: ดิฉันเองตอนที่ฟังเรื่องราวที่แต่ละท่านเล่ามา นอกจากเรื่องความสัมพันธ์กับผู้คนที่หลากหลายแล้ว ยังได้ฟังเรื่องราวการทำงานที่สนุกสนานด้วย รู้สึกดีใจมากค่ะ จากนี้ไปดิฉันเองก็จะทำงานร่วมกับคนต่างชาติไปพร้อมกับการคิดถึงอนาคตของประเทศญี่ปุ่นต่อไปด้วยค่ะ

 

บทความนี้เป็นการนำเสนอหัวข้อบางส่วนจากคลิปวิดีโอบรรยากาศของงานเสวนา ซึ่งในคลิปวิดีโอดังกล่าวนี้ นอกจากหัวข้อเหล่านี้แล้ว ชาวต่างชาติในญี่ปุ่นทั้ง 11 คนนี้ยังได้เล่าถึงวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นในเชิงลึกอีกด้วย คุณสามารถดูงานเสวนาฉบับเต็มได้ที่คลิปข้างล่างนี้