ช่วงที่ 1: การบอกเล่าความรู้สึกที่มีต่อการทำงานในประเทศญี่ปุ่นและการสัมมนาของ JCWG

ช่วงที่ 1: การบอกเล่าความรู้สึกที่มีต่อการทำงานในประเทศญี่ปุ่นและการสัมมนาของ JCWG

เมื่อวานนี้มีการจัดงานเสวนาบอกเล่าความในใจเกี่ยวกับการทำงานในประเทศญี่ปุ่นของชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ในคลิปวิดีโอที่บันทึกบรรยากาศของงานเสวนามีคุณอิโต ยูโกะจากศูนย์ส่งเสริมการวิจัยขั้นสูง มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ฮอกไกโด และรองศาสตราจารย์ซึสึกิ โทชิฟุมิจากมหาวิทยาลัยชิสึโอกะเป็นผู้ดำเนินรายการ โดยมีการพูดคุยกันระหว่างชาวต่างชาติที่ทำงานในญี่ปุ่นมากมาย โดยเฉพาะเสน่ห์ของประเทศญี่ปุ่น ตลอดจนถึงปัญหาและการแก้ไข

Contents:

ในช่วงที่ 1 ได้มีการถามชาวต่างชาติที่ทำงานในญี่ปุ่น 4 คน โดยทั้ง 4 คนนี้เคยทำหน้าที่เป็นพิธีกรในงานสัมมนาเกี่ยวกับอาชีพทักษะเฉพาะทางในประเทศญี่ปุ่นชื่อว่า “งานสัมมนาออนไลน์ Japan Care Worker Guide (JCWG)” ซึ่งจัดขึ้นในทุกประเทศทั่วโลกในช่วงเดือนตุลาคม 2021-มกราคม 2022 เกี่ยวกับความรู้สึกที่มีต่อการทำงานในประเทศญี่ปุ่นและการสัมมนาของ JCWG

อิโต: ในช่วงที่ 1 ของงานเสวนาบอกเล่าความในใจเกี่ยวกับการทำงานในประเทศญี่ปุ่นของชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นนี้ ได้เชิญคุณอะกุนจากอินโดนีเซีย, คุณทิฟฟานีจากฟิลิปปินส์, คุณถิลีจากศรีลังกา และคุณเหวียนจากเวียดนามเพื่อพูดคุยกับอาจารย์ซึสึกิจากวิทยาลัยอนุปริญญา มหาวิทยาลัยชิสึโอกะค่ะ
ทั้ง 4 ท่านนี้ทำงานอยู่ในประเทศญี่ปุ่น โดยมีอาชีพที่แตกต่างไปจากการดูแลบริบาล ทั้งยังเคยทำหน้าที่เป็นพิธีกรในงานสัมมนาออนไลน์ Japan Care Worker Guide (JCWG) ที่จัดขึ้นในทุกประเทศทั่วโลกอีกด้วย ขอเรียนถามทุกท่านว่ารู้สึกอย่างไรในการทำหน้าที่พิธีกรคะ

 

คุณอะกุน (อินโดนีเซีย): เป็นประสบการณ์ครั้งแรก รู้สึกตื่นเต้นมากครับ ดีที่ทางงานสัมมนาให้พูดภาษาแม่ได้ ทำให้รู้สึกดีใจที่ได้พูดคุยหลายอย่างเลย

 

คุณทิฟฟานี (ฟิลิปปินส์): ดิฉันเคยทำหน้าที่เป็นพิธีกร แต่งานสัมมนาออนไลน์นี่ถือเป็นครั้งแรกเลย ขนาดที่ทางงานสัมมนาให้พูดเป็นภาษาแม่ได้ ดิฉันยังรู้สึกตื่นเต้นเลยค่ะ แล้วก็กังวลว่าดิฉันเองจะพูดอะไรแปลก ๆ ออกไปหรือเปล่า

 

อิโต: ในงานสัมมนาออนไลน์ JCWG ได้มีการอธิบายถึง “ทักษะเฉพาะ” ก่อนจะมีการสัมมนา มีใครรู้จัก “ทักษะเฉพาะทาง (SSW)” ที่ว่านี้ไหมคะ

 

คุณเหวียน (เวียดนาม): ทราบมาแล้วค่ะ เพราะว่ามีการพูดถึงเรื่องนี้ตามช่องทีวีและโซเชียลมีเดียในเวียดนาม แล้วก็ได้ทราบถึงรายละเอียดจากงานสัมมนานี้ค่ะ

 

คุณถิลี (ศรีลังกา): ดิฉันรู้จักระบบอาชีพทักษะเฉพาะทางในญี่ปุ่น แต่เท่าที่รู้ มีการจัดสอบในศรีลังกาตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว คนศรีลังกาเพิ่งจะรู้จักได้ไม่นานค่ะ
ดิฉันเองเคยมีคนที่ไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัวติดต่อเข้าทางโซเชียลมีเดียด้วย ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการจัดสอบในศรีลังกามาก่อน จึงเป็นระบบที่ยังไม่มีใครแนะนำมาก่อน ปัจจุบันนี้ จากการที่มีโซเชียลมีเดีย ทำให้คนศรีลังกาหันมาเรียนรู้เรื่องอาชีพทักษะเฉพาะทางมากขึ้นค่ะ

 

อิโต: ญี่ปุ่นมีใบรับรองสถานภาพการพำนักหลากหลายประเภท โดยเฉพาะประเภท “อาชีพทักษะเฉพาะด้าน” เชื่อว่ามีหลายคนที่ทำงานดูแลบริบาลไปพร้อมกับการพัฒนาทักษะ อาจารย์ซึสึกิคิดเห็นเป็นอย่างไรคะ

 

ซึสึกิ: ผมทำหน้าที่ฝึกอบรมผู้ดูแลพยาบาลผู้สูงอายุและเจ้าหน้าที่ดูแลบริบาล จึงมีโอกาสได้พบกับคนที่ใช้ระบบอาชีพทักษะเฉพาะด้านอยู่บ่อย ๆ อาชีพผู้ดูแลพยาบาลผู้สูงอายุถูกจัดให้เป็น “สถานภาพการพำนักที่สำคัญของชาติ” ชาวต่างชาติที่ได้สถานภาพพำนักนี้จะสามารถทำงานเป็นผู้บริบาลในประเทศญี่ปุ่นได้นานมากขึ้น และเชื่อว่าจะเป็นการพัฒนาไปอีกก้าวหนึ่งด้วยครับ

 

“การฝึกอบรมทักษะชาวต่างชาติ” ดิฉันทราบมาว่าคุณอะกุนเคยเห็นชาวต่างชาติที่ทำงานที่สถานที่ดูแลบริบาลในงานสัมมนาออนไลน์มาแล้ว รู้สึกประทับใจในเรื่องอะไรบ้างคะ

 

คุณอะกุน (อินโดนีเซีย): ผมได้พูดคุยกับคุณอายุที่ทำงานที่สถานที่ดูแลบริบาลในจังหวัดโอคายามะมากมาย เธอบอกว่าเธอเรียนภาษาญี่ปุ่นทั้งที่โรงเรียนและศึกษาเอง จนสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่นได้ระดับ N2 (สามารถอภิปรายเป็นภาษาญี่ปุ่นได้) ภายใน 1 ปี ผมได้ฟังแล้วก็รู้สึกทึ่งมาก และรู้สึกประทับใจตรงที่เป็นการมาญี่ปุ่นที่ส่งผลดีต่อตนเองและครอบครัวครับ

 

อิโต: ในช่วงที่ 2 คุณอายุจะมาร่วมรายการด้วย เดี๋ยวคงจะได้พูดคุยสอบถามกันอีกแน่นอนค่ะ ถ้าอย่างนั้น ขอให้ทุกท่านแนะนำเรื่องราวเกี่ยวกับเสน่ห์ในการทำงานที่ญี่ปุ่นค่ะ

 

คุณทิฟฟานี (ฟิลิปปินส์): แน่นอนว่าแล้วแต่อาชีพ แต่เมื่อเทียบกับฟิลิปปินส์แล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือเงินเดือนหรือค่าจ้างที่สูงค่ะ ถ้าเราไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย การใช้ชีวิตก็คงจะไม่ขัดสนมาก อีกอย่าง พนักงานในบริษัทญี่ปุ่นแทบทุกคนสามารถทำงานได้หลายด้าน โดยเฉพาะคนที่เพิ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย ถือเป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่าง คนทำงานในญี่ปุ่นจะมีการย้ายงานในช่วงครึ่งปีถึง 1 ปี ซึ่งมีส่วนช่วยในการพัฒนาทักษะด้วยค่ะ

 

คุณถิลี (ศรีลังกา): ดิฉันเคยทำงานที่บริษัท 2 แห่ง แต่ไม่รู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติจากการเป็นชาวต่างชาติเลยค่ะ แถมมีคนเข้ามาให้ความช่วยเหลือด้วยซ้ำ ขอแค่ปฏิบัติกฎหมายในประเทศญี่ปุ่นและกฎ กติกา และมารยาทของคนญี่ปุ่น ก็ไม่มีอะไรต้องกลัวค่ะ และการที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยสูงนี้เอง จึงมีข้อดีที่สำคัญตรงที่สามารถใช้ชีวิตไปพร้อมกับการพัฒนาทักษะและเสริมสร้างประสบการณ์อาชีพค่ะ

 

คุณเหวียน (เวียดนาม): ดิฉันคิดว่าสังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมที่ผู้หญิงได้รับโอกาสในการทำงานมากมายค่ะ มีกฎระเบียบที่เข้มงวด และมีสวัสดิการด้วย มีระบบประกันสุขภาพให้เราสามารถใช้บริการรักษาพยาบาลได้ฟรี ทั้งยังมีวันหยุดมากกกว่าเมื่อเทียบกับเวียดนาม แล้วก็มีระบบที่ช่วยให้ลาคลอดและลาเลี้ยงดูบุตรด้วยค่ะ

 

อิโต: ที่ผ่านมาดิฉันได้ยินผู้หญิงญี่ปุ่นบอกว่าสังคมญี่ปุ่นยังเป็นสังคมที่ผู้หญิงได้รับโอกาสในการงานน้อย แต่สำหรับผู้หญิงต่างชาติแล้ว อาจจะรู้สึกว่าตนได้รับโอกาสในการทำงานมากมายอย่างที่คุณเหวียนกล่าวไว้ คิดว่าญี่ปุ่นยังคงต้องพัฒนาโครงสร้างที่ชายและหญิงในญี่ปุ่นมีโอกาสทำงานอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้นต่อไปกระมังคะ

 

ซึสึกิ: ทุกท่านได้กล่าวถึงความกังวลของชาวต่างชาติเกี่ยวกับการทำงานในญี่ปุ่นกันไปแล้ว นอกจากเรื่องเงินเดือนหรือค่าจ้างแล้ว สิ่งที่อยากรู้มากที่สุดก็คือสถานที่ที่ชาวต่างชาติสามารถทำงานได้อย่างสะดวกนั่นเอง ปัจจุบันคนญี่ปุ่นจะทุ่มเทกับความก้าวหน้าในอาชีพ โดยเฉพาะการเข้ารับการฝึกอบรมพนักงาน แต่ยังมาได้แค่เพียงครึ่งทางเท่านั้น สำหรับชาวต่างชาติเอง สิ่งที่สำคัญก็คือสภาพแวดล้อมและโครงสร้างของงานที่สะดวกแก่การทำงานนั่นเองครับ

 

อิโต: ขอบพระคุณอาจารย์ค่ะ ในช่วงที่ 1 เราได้ถามทั้ง 4 ท่านเกี่ยวกับความรู้สึกที่มีต่อเสน่ห์การทำงานในประเทศญี่ปุ่นและงานสัมมนาของ JCWG กันไปแล้ว ทั้ง 4 ท่านที่มาพูดคุยในช่วงที่ 1 จะกลับมาในช่วงที่ 3 ของรายการค่ะ อย่าลืมติดตามชมกันต่อนะคะ แล้วเจอกันใหม่ในช่วงที่ 2 ค่ะ

 

บทความนี้เป็นการนำเสนอหัวข้อบางส่วนจากคลิปวิดีโอบรรยากาศของงานเสวนา ซึ่งในคลิปวิดีโอดังกล่าวนี้ นอกจากหัวข้อเหล่านี้แล้ว จะมีการพูดถึงแรงบันดาลใจในการเดินทางมาที่ญี่ปุ่นของชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นและความประทับใจในการมาที่ญี่ปุ่น คุณสามารถดูงานเสวนาฉบับเต็มได้ที่คลิปข้างล่างนี้