ช่วงที่ 2: เสน่ห์ของการทำงานที่สถานที่ดูแลบริบาลและการพูดคุยสื่อสาร

ช่วงที่ 2: เสน่ห์ของการทำงานที่สถานที่ดูแลบริบาลและการพูดคุยสื่อสาร

เมื่อวานนี้มีการจัดงานเสวนาบอกเล่าความในใจเกี่ยวกับการทำงานในประเทศญี่ปุ่นของชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ในคลิปวิดีโอที่บันทึกบรรยากาศของงานเสวนามีคุณอิโต ยูโกะจากศูนย์ส่งเสริมการวิจัยขั้นสูง มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ฮอกไกโด และรองศาสตราจารย์ซึสึกิ โทชิฟุมิจากมหาวิทยาลัยชิสึโอกะเป็นผู้ดำเนินรายการ โดยมีการพูดคุยกันระหว่างชาวต่างชาติที่ทำงานในญี่ปุ่นมากมาย โดยเฉพาะเสน่ห์ของประเทศญี่ปุ่น ตลอดจนถึงปัญหาและการแก้ไข

Contents:

ในช่วงที่ 2 จะมีคำถามในหัวข้อ “เสน่ห์ของการทำงานที่สถานที่ดูแลบริบาลและการพูดคุยสื่อสาร” สำหรับชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น 7 คน ซึ่งทำงานเกี่ยวกับการดูแลบริบาลและเคยเข้าร่วมงานสัมมนาออนไลน์ Japan Care Worker Guide (JCWG) ซึ่งเป็นงานสัมมนาเกี่ยวกับอาชีพทักษะเฉพาะทางในประเทศญี่ปุ่นที่จัดขึ้นในทุกประเทศทั่วโลกในช่วงเดือนตุลาคม 2021-มกราคม 2022

อิโต: สวัสดีค่ะ ในช่วงที่ 2 ของงานเสวนาบอกเล่าความในใจเกี่ยวกับการทำงานในประเทศญี่ปุ่นของชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นนี้ เราจะพูดคุยกันต่อในหัวข้อ “เสน่ห์ของการทำงานที่สถานที่ดูแลบริบาลและการพูดคุยสื่อสาร” ค่ะ อาจารย์ซึสึกิจากช่วงที่ 1 ยังอยู่ด้วยกันนะคะ

 

ซึสึกิ: ฝากเนื้อฝากตัวด้วยครับ

 

อิโต: ถ้าอย่างนั้น เราจะแนะนำผู้ร่วมรายการในช่วงที่ 2 นะคะ มีทั้งหมด 7 คน ได้แก่คุณอายุจากอินโดนีเซีย, คุณเลิฟลีและคุณสเตลล่าจากฟิลิปปินส์, คุณสิธุมินีและคุณอศินีจากศรีลังกา และคุณลินและคุณโห่ยจากเวียดนาม ทั้ง 7 คนนี้เคยเข้าร่วมงานสัมมนาออนไลน์ Japan Care Worker Guide (JCWG) และจะตอบคำถามในฐานะรุ่นพี่ที่ทำงานที่สถานที่ดูแลบริบาล ทุกท่านมีความรู้สึกที่เปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหนหลังจากงานสัมมนาคะ

 

คุณอายุ (อินโดนีเซีย): ดิฉันอยากพัฒนาทักษะภาษาญี่ปุ่นให้มากกว่านี้ค่ะ จะได้พูดคุยสื่อสารกับผู้ใช้บริการสถานที่ได้ดีขึ้น

 

คุณเลิฟลี (ฟิลิปปินส์): ดิฉันจะตั้งใจทำงานให้มากขึ้นเพื่อครอบครัวค่ะ และจะเข้าร่วมการฝึกอบรมของบริษัทและสถานที่ดูแลบริบาลให้มากขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะการดูแลบริบาลและเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ค่ะ

 

คุณอศินี (ศรีลังกา): ดีใจที่ได้สอนเรื่องญี่ปุ่นให้แก่ชาวต่างชาติที่อยากมาญี่ปุ่นค่ะ

 

คุณลิน (เวียดนาม): ดิฉันได้รับคำชมจากเพื่อนร่วมงานกับครอบครัว ทำให้รู้สึกมั่นใจมากขึ้นค่ะ อยากจะบอกน้อง ๆ ที่เวียดนามว่า “รีบไปทำงานที่ญี่ปุ่นกันนะ !”

 

อิโต: ดูเหมือนว่าทุกท่านจะได้รับผลดีจากการเข้าร่วมสัมมนานะคะ ต่อไปจะถามทุกท่านถึง “คำศัพท์หรือประโยคภาษาญี่ปุ่นที่ชื่นชอบ” และ “เหตุผลที่ชอบ” ค่ะ

 

คุณเลิฟลี (ฟิลิปปินส์): คำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นที่ดิฉันชอบมากที่สุดคือคำว่า 愛 (ไอ) ที่แปลว่า “รัก” ค่ะ ชื่อของดิฉันคือ “เลิฟลี (Lovely)” คนสนิทจะเรียกดิฉันว่า “น้องเลิฟลี” หรือ “หนูเลิฟลี” แล้วคำว่า Love ก็ตรงกับคำว่า 愛 ในภาษาญี่ปุ่นด้วย ที่ใดมีรัก ที่นั่นย่อมมีสันติค่ะ (หัวเราะ)

 

คุณสิธูมินี (ศรีลังกา): ดิฉันชอบประโยค いつもありがとう (อิทสึโมะ อาริกาโต/ขอบคุณสำหรับทุกอย่าง) ที่เป็นประโยคที่พูดกันในการทำงานดูแลบริบาลค่ะ มีความสุขทุกครั้งที่ได้ยินประโยคนี้จากผู้ใช้บริการสถานที่ค่ะ

 

คุณโห่ย (เวียดนาม): คำศัพท์ที่ดิฉันชอบก็คือ 頑張って (กัมบัตเตะ/สู้ ๆ นะ) ค่ะ เป็นคำดี ๆ ที่ให้กำลังใจคน ส่วนดิฉันเองเวลาที่เหนื่อยล้า ก็จะให้กำลังใจตัวเองด้วยการบอกว่า 頑張って ค่ะ

 

ซึสึกิ: เห็นทุกท่านชอบคำศัพท์หรือประโยคที่ใช้บ่อยในชีวิตประจำวันแล้วรู้สึกดีครับ

 

อิโต: คำถามต่อไปค่ะ ทุกท่านมีความยากลำบากในการพูดคุยสื่อสารในระหว่างการทำงานดูแลบริบาลหรือไม่คะ

 

อศินี (ศรีลังกา): เคยมีเรื่องที่อยากจะพูด แต่ไม่รู้ว่าจะสื่อสารเป็นภาษาญี่ปุ่นอย่างไรมั้งคะ เรื่องนี้ทำให้บอกความต้องการของผู้ใช้บริการกับพวกพี่ ๆ ได้ยากเหมือนกัน

 

คุณลิน (เวียดนาม): คิดว่าสิ่งที่ยากที่สุดคือ “คำยกย่อง” ค่ะ ถ้าใช้ได้คล่องจะทำให้การพูดคุยเป็นไปอย่างราบรื่น แต่ถ้าใช้ผิดก็จะกลายเป็นเสียมารยาทไปเลย… ดิฉันเกิดและเติบโตที่เวียดนามที่มีคำยกย่องเหมือนกัน ทำให้มีความระมัดระวังในการใช้คำยกย่องที่ญี่ปุ่นค่ะ

 

อิโต: ดิฉันได้ยินมาว่าสำเนียงท้องถิ่นของภาษาญี่ปุ่นก็ยากเหมือนกัน ทุกท่านเคยฟังสำเนียงที่เป็นเอกลักษณ์แล้วไม่เข้าใจกันบ้างไหมคะ

 

คุณอศินี (ศรีลังกา): คำว่า いい (อี้/ดี) ในสำเนียงนางาซากิจะพูดว่า よか (โยกะ) ประโยค 行かなければならない (อิคานะเคเรบะนาราไน/ต้องไป) จะพูดเป็น 行かんば (อิคันบะ) 知りません (ชิริมาเซ็น/ไม่ทราบ) ก็จะพูดเป็น わからん (วาคารัน) หรือไม่ก็ 知らん (ชิรัน) ค่ะ

 

คุณหลิน (เวียดนาม): ที่ฮอกไกโดจะมีสำเนียงหลายสำเนียงค่ะ อย่างเช่น かわいい (คาวาอี้/น่ารัก) จะพูดเป็น めんこい (เมนโคอิ) คำว่า 冷たい (สึเมะไต/เย็น ใช้กับสิ่งของ) ก็จะพูดเป็น しゃっこい (ชักโคอิ)

 

คุณอายุ (อินโดนีเซีย): ที่โอคายามะ คำว่า 疲れた (สึคาเระตะ/เหนื่อย) จะพูดเป็น えれぇ (เอเร้) 暑い (อัตซึย/ร้อน ใช้กับสภาพอากาศ) 寒い (ซามุย/เย็น ใช้กับสภาพอากาศ) ก็จะพูดเป็น さみぃ (ซามี่) ฟังแล้วรู้สึกตกใจค่ะ เพราะที่โรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นไม่ได้สอนเรื่องสำเนียงท้องถิ่น ตอนนี้สามารถพูดเป็นสำเนียงโอคายามะได้แล้วค่ะ

 

คุณสเตลล่า (ฟิลิปปินส์): ที่นางาโนะ คำว่า 疲れた จะพูดเป็น ごしたい (โกชิไต) ตอนที่ได้ยินคำนี้เป็นครั้งแรก ดิฉันเข้าใจผิดว่าผู้ใช้บริการปวดหลัง (腰が痛い/โคชิ งะ อิไต) กันหมดทุกคนน่ะค่ะ

 

ซึสึกิ: ทุกท่านเก่งภาษาญี่ปุ่นจริง ๆ ครับ ดูเหมือนว่าจะพูดคุยสื่อสารแบบเน้นไปที่ “การทำความเข้าใจ” ความหมายของคำศัพท์หรือประโยคสินะครับ

จริง ๆ แล้วอาจารย์อิโตอาศัยอยู่ที่โตเกียวมาเป็นเวลานาน แต่จะพูดด้วยสำเนียงโอซาก้าเสมอ แล้วบางทีเวลาเจอกับเพื่อนที่พูดสำเนียงโอซาก้าได้เมื่อไหร่  ก็จะพูดคุยกันคล่องเหมือนรู้ใจกันเลยละครับ นอกจากการสื่อความหมายแล้ว การสนทนากันอย่างคุ้นเคยด้วยบรรยากาศที่เป็นมิตรก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นเดียวกันครับ

 

อิโต: ฟังจากที่ทุกท่านตอบแล้ว รู้สึกเหมือนได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของการพูดคุยสื่อสารนะคะเนี่ย ถ้าเช่นนั้น เจอกันอีกทีในช่วงที่ 3 ค่ะ

 

บทความนี้เป็นการนำเสนอหัวข้อบางส่วนจากคลิปวิดีโอบรรยากาศของงานเสวนา ซึ่งในคลิปวิดีโอดังกล่าวนี้ นอกจากหัวข้อเหล่านี้แล้ว ยังมีการพูดถึงการพูดคุยสื่อสารในสถานที่ดูแลบริบาลที่เล่าโดยชาวต่างชาติในญี่ปุ่น คุณสามารถดูงานเสวนาฉบับเต็มได้ที่คลิปข้างล่างนี้