งานดูแลบริบาลของญี่ปุ่นเป็นงานแบบไหนกันนะ

งานดูแลบริบาลของญี่ปุ่นเป็นงานแบบไหนกันนะ

หากได้ยินเรื่องงานดูแลบริบาล อาจมีบางคนนึงถึงงานของพยาบาลในโรงพยาบาล อย่างไรก็ตามญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับสังคมผู้สูงอายุ งานดูแลบริบาลซึ่งมีความแตกต่างจากพยาบาลจึงมีความสำคัญขึ้นมา ครั้งนี้เราจะแนะนำว่างานดูแลบริบาลนั้นเป็นงานแบบไหน ผ่านแบบสำรวจและการสัมภาษณ์ชาวต่างชาติที่มีประสบการณ์ทำงานเป็นผู้บริบาลที่ญี่ปุ่น

Contents:

งานดูแลบริบาลคืออะไร

การดูแลบริบาลคือการดูแลช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาในการดำเนินชีวิตประจำวันอันเนื่องมาจากความพิการทางร่างกายหรือจิตใจโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ให้ดำเนินชีวิตได้อย่างอิสระมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ผู้สูงอายุหรือผู้พิการที่มีปัญหาในการดำเนินชีวิตตามลำพังจะได้รับความช่วยเหลือในการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การทานอาหาร การขับถ่าย การอาบน้ำ ตามระดับอาการและสภาพแวดล้อมของแต่ละคน สถานที่ทำงานมักได้แก่ สถานบริบาล สถานบริบาลแบบไปกลับ และบ้านของผู้ใช้บริการ

ลักษณะงานหลักๆ ของผู้บริบาลได้แก่

การดูแลบริบาลเรื่องการรับประทานอาหาร การอาบแช่น้ำ การขับถ่าย การเคลื่อนย้าย การย้ายที่นั่งหรือนอน

・การดูแลบริบาลเรื่องงานบ้าน เช่น การทำความสะอาด การทำอาหาร

・การจัดการอุปกรณ์ช่วยเหลือ

・การร่วมมือกับครอบครัวและสายอาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น แพทย์ พยาบาล

・การวางแผนและดำเนินการการออกนอกสถานที่และนันทนาการ

 

งานดูแลบริบาลที่ญี่ปุ่น

ที่ประเทศญี่ปุ่นมีแนวโน้มว่าลูกจำนวนมากจะแยกอาศัยกับพ่อแม่เมื่อเริ่มทำงานหรือแต่งงาน พ่อแม่จึงมักใช้ชีวิตกันเองคนเดียวหรือสองคนเมื่อสูงอายุขึ้น ดังนั้นถ้ามีความพิการทางร่างกายหรือจิตใจและมีความยากลำบากในการดำเนินชีวิตหากไม่ได้รับการช่วยเหลือจึงจำเป็นต้องรับบริการการดูแลบริบาล ด้วยเหตุนี้ ญี่ปุ่นที่กำลังเผชิญกับสังคมผู้สูงอายุจึงมีการจัดตั้งระบบและสถานบริบาลขึ้นเป็นอย่างดี

คุณ Albert Fernandez จากฟิลิปปินส์ผู้มีประสบการณ์ทำงานเป็นผู้บริบาลที่ญี่ปุ่นเล่าว่า “ที่ฟิลิปปินส์ก็มีสถานบริการสำหรับผู้สูงอายุ แต่ไม่ได้เรียกว่าสถานบริบาล และไม่ได้มีลักษณะเหมือนที่ญี่ปุ่น เป็นเพียงสถานที่ให้ผู้สูงอายุอาศัยอยู่เท่านั้น” 

ประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีอัตราการเกิดลดลง มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นและมีครอบครัวเดี่ยวเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วจึงเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านบริการการดูแลบริบาล ประเทศอื่นๆ ในเอเชียก็มีการคาดการณ์ว่าจะเริ่มมีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นในอนาคต จึงอาจเป็นโอกาสที่ดีในการศึกษาองค์ความรู้ที่ญี่ปุ่นซึ่งก้าวหน้าด้านการดูแลบริบาล

 

รางวัลของการทำงานดูแลบริบาล

ในการทำงานดูแลบริบาลจะมีการสื่อสารกับผู้สูงอายุและครอบครัวอยู่เป็นประจำ และมักมีการพูดคุยกันในเรื่องต่างๆ รางวัลในการทำงานดูแลบริบาลที่คนมักรู้สึกได้คือการได้รับคำขอบคุณระหว่างการพูดคุยสื่อสารนั้น 

เมื่อลองถามคุณ Riswanti จากอินโดนีเซีย เธอได้ตอบว่า “ฉันรู้สึกได้รับรางวัลในการทำงานเวลาที่ฉันเข้าใจสิ่งที่ผู้ใช้บริการสถานบริบาลสื่อและสามารถดูแลเขาได้ตามความต้องการ โดยเฉพาะเวลาที่ได้เห็นรอยยิ้มของผู้ใช้บริการภายหลังการบริบาล และฉันก็มักได้พูดคุยกับครอบครัวของผู้ใช้บริการ ได้พูดคุยกันเรื่องอินโดนีเซียประเทศบ้านเกิดของฉัน รวมถึงเหตุผลที่ฉันคลุมศีรษะด้วย jilbab (ผ้าคลุมที่ผู้หญิงมุสลิมใช้ปิดบังศีรษะและหู) เลยได้สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันขึ้นมา”

 

คนแบบไหนเหมาะจะเป็นผู้บริบาล

คนที่ชอบพูดคุยและเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นมักจะเหมาะกับงานดูแลบริบาล นอกจากนี้งานบริบาลยังต้องใช้พละกำลังพอสมควรด้วย อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีการศึกษาเกี่ยวกับร่างกายและมีการใช้เครื่องมือเข้ามาช่วยจึงลดปัญหาเรื่องนี้ลงไปได้ เราได้ลองถามลักษณะของคนที่เหมาะกับงานดูแลบริบาลจากคนที่ไม่ใช่คนญี่ปุ่นซึ่งมีประสบการณ์ทำงานดูแลบริบาลที่ญี่ปุ่น

・“เพราะต้องมีการพูดคุยสื่อสารเพื่อสร้างความเชื่อใจกับผู้ใช้บริการ คนที่ชอบพูดคุยจึงเหมาะกับงานผู้บริบาล นอกจากนี้ก็คนที่ใจดี สดใสร่าเริง เข้าใจความรู้สึกของคนอื่นก็น่าจะเหมาะกับงานบริบาลด้วย”

・“คนที่จะมีความสุขกับการทำงานดูแลบริบาลได้คือคนที่มองโลกในแง่ดี จริงจัง ทำงานหนัก เป็นมิตรและมีแรงมีกำลัง”

・“ในงานดูแลบริบาล อาจมีบางสถานการณ์ที่ต้องใช้ความแข็งแรงแต่หากรู้วิธีใช้ร่างกายก็สามารถทำได้ง่ายดาย แถมยังมีเครื่องมือช่วยรองรับการเคลื่อนไหว หากรู้วิธีใช้เครื่องมือเหล่านั้นก็ไม่จำเป็นต้องมีพละกำลังที่แข็งแกร่งก็ได้”

 

หนทางของอาชีพผู้บริบาล

หากคุณทำงานเป็นผู้บริบาล ตัวเลือกอาชีพในอนาคตของคุณจะมีอะไรบ้าง 

บางคนอาจสั่งสมประสบการณ์ด้านการดูแลบริบาลและตั้งเป้าจะเป็นหัวหน้าขององค์กร หลายๆ คนอาจมีเป้าหมายในการได้วุฒิระดับประเทศ เช่น ผู้ดูแลบริบาลที่ได้รับการรับรอง และหลายคนอาจคิดจะสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่นให้ได้ ระดับ N1 และสร้างบทบาทต่างๆ ทั้งที่ญี่ปุ่นและประเทศของตัวเอง

บางคนก็มีความพยายามในสร้างหนทางใหม่ “ด้วยเหตุผลทางครอบครัวฉันจึงต้องกลับประเทศไป แต่ก็อยากนำเรื่องการดูแลบริบาลและภาษาญี่ปุ่นที่ได้เรียนที่ญี่ปุ่นกลับไปสอนที่ประเทศตัวเอง” (คุณ HOANG THI NGOC ANH จากเวียดนาม)

ประเทศญี่ปุ่นมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทำให้บุคคลากรด้านการดูแลบริบาลไม่เพียงพอ จึงมีความพยายามเพิ่มบุคลากรด้านการดูแลบริบาลผ่านโครงการต่างๆ หนึ่งในนั้นคือการเตรียมความพร้อมให้ชาวต่างชาติสามารถมาทำงานดูแลบริบาลที่ญี่ปุ่นได้อย่างอุ่นใจ [1] เรามีความยินดีอย่างมากหากคุณมีความสนใจในงานดูแลบริบาลในญี่ปุ่น

[1] กระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการ, “การจัดการเพื่อสวัสดิภาพของบุคลากรด้านการดูแลบริบาล” (ภาษาญี่ปุ่น)