เมื่อคุณมาจากต่างประเทศและได้มาทำงานดูแลที่ญี่ปุ่น สิ่งที่คุณทั้งหลายอาจกังวลคือเรื่องการสื่อสารกับคนญี่ปุ่น ในครั้งนี้เราจะมาสัมภาษณ์คนญี่ปุ่นที่ทำงานร่วมกับคนต่างชาติที่เป็นพนักงานดูแลกัน เสียงตอบรับที่ได้จากเจ้าของกิจการด้านการดูแลที่รับคนต่างชาติคือพวกเขาดีใจเป็นอย่างมากที่ได้ร่วมทีมทำงานกัน เพราะว่าคนต่างชาตินั้นทำให้บรรยากาศในการทำงานดีขึ้น, ช่วยเพิ่มความสามัคคีได้มากขึ้น เป็นต้น
Contents:
โปรดชมภาพวิดีโอที่ได้ทำการสัมภาษณ์จริงไปพร้อมกัน
ในครั้งนี้เราจะสรุปใจความที่ได้ถามกับพนักงานญี่ปุ่นที่ทำงานอยู่ในสถานที่ที่มีคนต่างชาติจากหลาย ๆ ประเทศมาทำงานกัน โปรดชมภาพวิดีโอสัมภาษณ์ไปพร้อมกัน
〇 คุณอิซึมิที่ทำงานในจังหวัดฟุกุโอกะร่วมกับคุณอายูผู้มาจากประเทศอินโดนีเซีย
〇 คุณอูจิที่ทำงานในฮอกไกโดร่วมกับคุณรินและคุณฮ่วยผู้มาจากประเทศเวียดนาม
〇 คุณโคงุระที่ทำงานในฮอกไกโดร่วมกับคุณมูนและคุณลีผู้มาจากประเทศกัมพูชา
〇 คุณคิโนชิตะที่ทำงานในจังหวัดนางาโนะร่วมกับคุณสเตลล่าและคุณเลิฟลี่ผู้มาจากประเทศฟิลิปปินส์
โปรดบอกข้อดีที่คุณได้ลองทำงานร่วมกับพนักงานต่างชาติให้กับเราหน่อย
(คุณอิซึมิ) ทำให้ผู้สอนได้ย้อนกลับไปหาความรู้สึกแรกเริ่มของตัวเองได้อีกครั้งค่ะ ดิฉันได้เห็นเขาพยายามเรียนรู้และตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ มันทำให้ดิฉันรู้สึกว่าเราก็ต้องพยายามบ้างเหมือนกันค่ะ
(คุณอูจิ) การที่ได้เห็นเขาพยายามที่จะเรียนรู้อย่างกระตือรือร้น และมีความอยากที่จะทำงาน สิ่งเหล่านั้นช่วยส่งผลด้านบวกให้กับพนักงานญี่ปุ่น และช่วยส่งผลให้พวกเขารู้สึกว่าต้องพยายามมากขึ้นครับ
(คุณโคงุระ) คิดว่าช่วยให้คนญี่ปุ่นปรับคำตอบตัวเองให้เข้าใจง่ายมากขึ้นค่ะ
(คุณคิโนชิตะ) เนื่องจากผมไม่ค่อยมีโอกาสในการเรียนรู้ภาษาต่างชาติ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษสักเท่าไหร่ การที่ผมสามารถถามตอบกับพวกเขาว่า “ภาษาญี่ปุ่นคำนี้ถ้าเป็นภาษาอังกฤษเรียกว่าอะไรเหรอ ?” ได้โดยไม่ต้องเกรงใจเนี่ยช่วยผมได้มากเลยครับ และพวกเขาก็เก่งภาษาญี่ปุ่นมากด้วย ทำให้ผมได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่างเลย และผมก็ยินดีที่ได้เรียนรู้ด้วยครับ
คุณพนักงานญี่ปุ่นทั้งหลายสื่อสารกับพนักงานต่างชาติอย่างไรเหรอ ? หากมีอะไรที่ใส่ใจระหว่างสื่อสารกับพวกเขา โปรดบอกได้เลย
(คุณอิซึมิ) พยายามพูดภาษาญี่ปุ่นให้เข้าใจง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้ค่ะ มีใช้ภาษามือ, วาดภาพหรือพูดภาษาอังกฤษบ้าง และก็พูดคุยกันช้า ๆ ด้วยค่ะ
(คุณอูจิ) พยายามตั้งใจฟัง บอกเขาช้า ๆ และก็ไม่ลืมที่จะยิ้มให้เขาครับ
(คุณโคงุระ) ดิฉันก็จะหยิบเรื่องกิจกรรมหรือเรื่องที่ดัง ๆ ในช่วงนั้นแล้วถามพวกเขาประมาณว่า “ที่ประเทศกัมพูชาเป็นยังไงบ้างเหรอ” เพราะฉันคิดว่ามันช่วยให้พวกเราเข้าใจกันได้มากขึ้นค่ะ
(คุณคิโนชิตะ) ส่วนที่ผมใส่ใจคือเวลาที่ผมจะบอกอะไรผ่านกระดาษโน๊ตผมจะไม่ใช้ตัวคันจิ หากเป็นภาษาญี่ปุ่นผมจะพยายามบอกพวกเขาโดยเขียนเป็นฮิรางานะหรือคาตาคานะแทนครับ การสื่อสารด้วยการพูดคุยไม่มีปัญหาอะไรเลยครับ โดยปกติพวกเขาจะพูดคุยสื่อสารเหมือนกับพวกเราคนญี่ปุ่นทำกันเลยไม่มีอะไรที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษครับ
หากมีเรื่องราวน่าประทับใจเกี่ยวกับพนักงานต่างชาติ ในระหว่างพูดคุยเรื่องทั่วไปหรือระหว่างทำงาน โปรดบอกพวกเราหน่อย
(คุณอิซึมิ) ประทับใจที่เห็นเขาพยายามทำงานด้วยตนเอง เห็นเขาพยายามพูดคุยกับผู้รับบริการอย่างตั้งใจ ถึงแม้เขาจะมาจากต่างประเทศและไม่เข้าใจภาษาญี่ปุ่นสักเท่าไหร่ค่ะ และก็ประทับใจที่เขาพยายามเรียนรู้วัฒนธรรมญี่ปุ่นยกตัวอย่างเช่นเขาได้ใส่ชุดยูคาตะแล้วดีใจค่ะ
(คุณอูจิ) เห็นพวกเขานั่งโซฟาร่วมกับผู้รับบริการ พูดคุยกันดื่มชาด้วยกัน เป็นภาพที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นเราเห็นแล้วรู้สึกอบอุ่นจิตใจมาก ให้อารมณ์เหมือนกับคุณป้ากำลังพูดคุยกับหลานอย่างสนุกสนานเลยครับ
(คุณโคงุระ) เป็นตอนที่ได้จัดปาร์ตี้เต้นระบำกัมพูชา ในช่วงกิจกรรมประจำชั้นในเดือนพฤษภาคมค่ะ ทุกคนก็สนุกกันมากด้วย และเขาเองก็คงมั่นใจในตัวเองมากขึ้นที่ทำอะไรสักอย่างได้ด้วยค่ะ
(คุณคิโนชิตะ) ประทับใจที่พวกเขาพูดคุยกับผู้รับบริการอย่างอ่อนโยนและยิ้มร่าเริงเสมอครับ และก็ไม่ได้พูดคุยแบบนั้นแค่กับผู้รับบริการอย่างเดียวนะครับ เขายังพูดคุยอย่างอ่อนโยนกับพวกเราพนักงานด้วยเหมือนกัน ผมประทับใจมากที่พวกเขาทำตัวให้อ่อนโยนแบบนั้นตลอดได้ครับ และไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากแค่ไหนพวกเขาก็จะไม่ทำหน้าบึ้ง ทำให้ผมรู้สึกได้ถึงความตั้งใจอย่างเต็มที่ของพวกเขา สำหรับผมแล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมได้เรียนรู้เป็นอย่างมากเลยครับ
ผลตอบรับหรือเสียงตอบรับจากผู้รับบริการสถานที่ ต่อพนักงานต่างชาติเป็นอย่างไรบ้าง
(คุณอิซึมิ) ช่วงแรกผู้รับบริการจะจำชื่อกับหน้าตาลำบาก แต่เมื่อจำได้แล้ว ก็มีผู้รับบริการหลายท่านที่เรียกขอความช่วยเหลือจากพนักงานต่างชาติกันพอสมควรค่ะ ดูเหมือนผู้รับบริการจะเอ็นดูที่เห็นพนักงานต่างชาติตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่น่ะค่ะ
(คุณอูจิ) ได้ยินจากผู้รับบริการว่า “ทำงานได้ดีเลย” “ตั้งใจได้ดีเลย” “ยิ้มได้ดีมาก” และอื่น ๆ เพราะเห็นว่าพวกเขาตั้งใจทำงานเต็มที่น่ะครับ
(คุณโคงุระ) คงรู้สึกเหมือนเป็นหลานของตนเองที่ร่าเริงแจ่มใสน่ะค่ะ “เม็งโกยเนะ” (“เม็งโกย” เป็นภาษาถิ่นของฮอกไกโด แปลว่าน่ารัก)
(คุณคิโนชิตะ) ผู้รับบริการไม่ได้ส่งเสียงตอบรับด้านลบอะไรเป็นพิเศษเลยครับ พวกเขาประทับใจที่พนักงานต่างชาติปฏิบัติตนได้เหมือนเป็นพนักงานของเราคนหนึ่ง พูดคุยเหมือนคุยกับผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งเลยครับ