การทำงานและกฎเกณฑ์การใช้ชีวิตในญี่ปุ่น

การทำงานและกฎเกณฑ์การใช้ชีวิตในญี่ปุ่น

กฎเกณฑ์อะไรบ้างที่ชาวต่างชาติไม่คุ้นเคยเมื่อเดินทางไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ประเทศญี่ปุ่น ทุกประเทศต่างมีกฎเกณฑ์และมารยาททั้งในด้านการทำงานและการดำรงชีวิตเฉพาะของแต่ละประเทศ การยอมรับสิ่งเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมจะทำให้การใช้ชีวิตและการทำงานดำเนินไปได้อย่างราบรื่น เราจึงจะมาแนะนำเกี่ยวกับการทำงานในประเทศญี่ปุ่นและกฎเกณฑ์การใช้ชีวิตที่คนญี่ปุ่นอาจไม่รู้ตัว โดยอ้างอิงจากแบบสอบถามและบทสัมภาษณ์ของชาวต่างชาติที่มีประสบการณ์ทำงานในประเทศญี่ปุ่น

Contents:

การทำงานในที่ทำงาน

ความรู้สึกของผู้คนที่มีต่อกฎเกณฑ์ในสถานที่ทำงานในญี่ปุ่นนั้นดูเหมือนว่าจะมีความแตกต่างกันไปตามประเทศบ้านเกิดและความคิดของคนๆ นั้น แม้ว่าวิธีการทำงานของแต่ละบริษัทหรือสถานที่ทำงานจะแตกต่างกันไปบ้าง แต่มีหลายความเห็นที่กล่าวตรงกันในเรื่อง “ความเข้มงวดเรื่องเวลา” เรามาลองสำรวจวิธีการทำงานในที่ทำงานจากความคิดเห็นของผู้ปฏิบัติงานดูแลบริบาลที่มีประสบการณ์และมาตรการที่ดำเนินการในสถานบริบาลทางฝั่งญี่ปุ่นที่รับพวกเขา

 

・“ด้วยวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่แตกต่างจากประเทศบ้านเกิด ในครั้งแรกที่มาทำงานที่นี่เลยมีความยากลำบากมากมาย โดยเฉพาะนิสัยการจัดตารางเวลาและการรักษาเวลาอย่างเข้มงวด การใช้คำพูดกับผู้ใช้บริการสถานบริบาลและผู้ปฏิบัติงานคนอื่น และการดูแลร่างกาย ที่ประเทศของฉันหากคุณทำงานได้เรียบร้อยดีก็ไม่จำเป็นต้องใส่ใจเรื่องเวลามากนัก แถมไม่ต้องเป็นกังวลเรื่องความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องและการใช้ภาษาในที่ทำงานด้วย”

・“กฎที่ทำให้ฉันรู้สึกดีที่สุดเมื่อมาทำงานที่ญี่ปุ่นคือ “เริ่มดำเนินการ 5 นาทีก่อนเวลา การเริ่มตรงเวลาถือว่าสาย” คนที่มีการวางแผนจะให้ความเคารพเวลาของผู้อื่น อีกอย่างหนึ่งคือ ไปรษณียบัตรเขียนคำอวยพรที่ได้รับตอนปีใหม่หรือการ์ดปีใหม่ แม้ว่าจะมีการติดต่อกันด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากมาย แต่เมื่อคุณได้รับคำอวยพรที่เขียนลงบนกระดาษ คุณจะสัมผัสได้ถึงความเชื่อมโยงระหว่างผู้คนที่แท้จริง”

・“คิดว่าในที่ทำงานของญี่ปุ่นมีการประชุมบ่อยกว่าที่ประเทศของฉัน บางทีก็มีประชุมกันทั้งวัน นอกจากนี้คือมีบางคนที่ทำงานกันเป็นเวลานานๆ”

นอกเหนือจากนี้คุณสามารถอ่านแนะนำเกี่ยวกับการทำงานในญี่ปุ่นได้จากเอกสารที่เขียนขึ้นสำหรับสถานบริบาลของญี่ปุ่น โดยเราได้เลือกยกบางหัวข้อมาที่นี้

・ในญี่ปุ่นบางครั้งเราจะพยายามสื่อสารด้วยการ “ดูบรรยากาศ” และ “สังเกตความต้องการ” แทนการใช้คำพูด

・ในสถานที่ทำงานในญี่ปุ่น “การรายงาน การติดต่อ และการปรึกษา” เป็นสิ่งสำคัญ

[1] “คู่มือเกี่ยวกับการยอมรับและสนับสนุนการทำงานผู้บริบาลชาวต่างชาติ”

 

กฎเกณฑ์และมารยาทในการดำเนินชีวิตในสังคม

เมื่อคุณไปท่องเที่ยวที่ญี่ปุ่น คุณมักพบกฎเกณฑ์และมารยาททางสังคมที่แตกต่างจากประเทศบ้านเกิดของคุณ แต่หากคุณไม่ได้มาท่องเที่ยว แต่มาใช้ชีวิตที่นี่จริงๆ คุณจะค้นพบกฎเกณฑ์และมารยาทต่างๆ มากขึ้นไปอีก คุณสามารถไปที่ญี่ปุ่นแล้วค่อยเรียนรู้ทีละเล็กทีละน้อยได้ แต่การศึกษาล่วงหน้า อาจทำให้คุณไม่ไปรบกวนผู้อื่นหรือไม่สร้างความรู้สึกไม่ดีให้กับตัวเอง เราลองมาดูความคิดเห็นจากชาวต่างชาติที่เคยใช้ชีวิตในญี่ปุ่นกัน

・ “กฎเกณฑ์ในการใช้ชีวิตประจำวันที่ได้สัมผัสครั้งแรกเมื่อมาญี่ปุ่นคือการคัดแยกขยะ ฉันได้รู้ว่าการแยกขยะเผาได้ ขยะเผาไม่ได้ ขยะรีไซเคิล ขยะชิ้นใหญ่ และอื่นๆ อย่างถูกต้องทำให้สามารถนำไปรีไซเคิลใหม่ได้”

・“คนญี่ปุ่นมีนิสัยชอบทักทายกันอยู่ตลอด ฉันรู้สึกประทับใจมากที่ได้เห็นการทักทายกันในสถานที่ต่างๆ เช่น ที่ทำงาน โรงเรียน ร้านค้า การคมนาคมขนส่ง แถมยังมีเรื่องมารยาทที่ดีในการทิ้งขยะอีกด้วย ฉันคิดว่านิสัยที่ไม่รักษาความสะอาดเพียงเฉพาะบ้านของตัวเองแต่รักษาสภาพแวดล้อมโดยรอบทั้งหมดให้สะอาดและการเห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อมของคนญี่ปุ่นนั้นยอดเยี่ยมมาก”

・“ก่อนจะไปญี่ปุ่น ฉันได้เดินทางไปเที่ยวหลายครั้ง ฉันเลยคิดว่าไม่น่าจะมีอะไรให้ตกใจในการดำรงใช้ชีวิต แต่เมื่อมาอาศัยอยู่ก็ได้ค้นพบหลายอย่าง โดยเฉพาะการที่ต้องคัดแยกขยะ”

ในแง่ของการดำเนินชีวิตประจำวันดูเหมือนว่าจะมีความเห็นมากมายเกี่ยวกับกฎการแยกขยะ ที่ประเทศญี่ปุ่นโดยส่วนใหญ่จะมีการกำหนดวันที่คุณจะสามารถเอาขยะที่แยกแล้วออกไปทิ้งในที่ทิ้งขยะ (การทิ้งในคืนก่อนหน้านั้นก็ไม่ได้) นอกจากนี้ ในหลายกรณีคุณจำเป็นต้องซื้อถุงขยะแบบพิเศษและเอาขยะใส่ในถุงนั้นก่อนเอาไปทิ้ง

กฎเกณฑ์สำหรับการใช้ชีวิตทางสังคมจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่าคุณอาศัยอยู่ที่ไหน เมื่อได้ไปญี่ปุ่นและเริ่มต้นทำงานควรสอบถามคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน นอกจากนี้ รัฐบาลท้องถิ่นแต่ละแห่งจะมีการเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ จึงควรทำการตรวจสอบด้วยเช่นกัน เพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิง เราขอแนะนำ “Life in Tokyo: Your Guide”  ซึ่งเป็นคู่มือข้อมูลการใช้ชีวิตสำหรับชาวต่างชาติที่มาอาศัยอยู่ในโตเกียว จัดพิมพ์โดยกรุงโตเกียว