เรื่องจริงจากชาวต่างชาติที่ทำงานผู้จัดการพยาบาลดูแลในญี่ปุ่น 2

เรื่องจริงจากชาวต่างชาติที่ทำงานผู้จัดการพยาบาลดูแลในญี่ปุ่น 2

นี่คือชุดบทสัมภาษณ์คุณดิกกี โยนาตา (Dicki Yonata) ที่ทำงานที่สถานดูแลผู้สูงอายุ “เค็นโยไค บาเด็น” ในเมืองทาคามัตสึ จังหวัดคางาวะตั้งแต่ที่เป็นผู้ฝึกงานบริบาลผู้สูงอายุตามโครงการ EPA จนกระทั่งได้เป็นผู้จัดการพยาบาลดูแล (Care manager) บทสัมภาษณ์ในตอนที่ 2 คุณดิกกีจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมตัวสอบเป็นผู้จัดการพยาบาลดูแล

ดิกกี โยนาตา

เกิดที่เกาะสุมาตราในประเทศอินโดนีเซีย ทำงานเป็นผู้ฝึกงานบริบาลผู้สูงอายุตามโครงการ EPA ในปี 2012 และได้เป็นผู้บริบาลผู้สูงอายุในปี 2015 และสอบผ่านเป็นผู้จัดการพยาบาลดูแลในปี 2021 ทั้งได้แต่งงานและเป็นคุณพ่อลูกสองในปีดังกล่าว

Contents:

การเตรียมตัวสำหรับการสอบเป็นผู้จัดการพยาบาลดูแล

ผมเริ่มเรียนเพื่อสอบเป็นผู้จัดการพยาบาลดูแลเมื่อ 1 ปีก่อน การแบ่งเวลาทำงานมาเรียนเป็นเรื่องที่ยาก ผมเลยลองแบ่งเวลาด้วยการอ่านหนังสือครั้งละ 10 นาทีในเวลาว่าง และจะทำแบบนี้ทุกวัน ในเวลาพัก ผมจะอ่านหนังสืออ้างอิงด้วยแอป Kindle บนสมาร์ทโฟน เมื่อกลับที่พัก ผมจะท่องจำในระหว่างที่อาบน้ำ และก่อนนอนจะทำแบบฝึกหัดที่เคยออกมาแล้ว นอกจากนี้ก่อนสอบ 1 เดือนผมจะลางานยาวและอ่านหนังสือจนถึงตี 3 ทุกคืน

 

สิ่งที่ผมคิดว่ายากก็คือเรื่องของกฎหมาย โดยเฉพาะการประกันการรักษาพยาบาลในญี่ปุ่น แต่เพื่อที่จะเป็นผู้จัดการพยาบาลดูแล จำเป็นต้องเรียนเท่านั้นครับ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการทำตามแผนที่วางไว้ ผมได้ลางานก่อนสอบ 1 เดือน ซึ่งคนที่สถานดูแลก็สนับสนุน เชื่อว่าสถานดูแลทุกแห่งคงจะให้การสนับสนุนอย่างแน่นอนครับ

 

ส่วนทักษะภาษาญี่ปุ่นนั้นควรจะได้ระดับ N2 กรณีของผม ผมเรียนเป็นเวลาครึ่งเดือนก่อนมาที่ญี่ปุ่นด้วยโครงการ EPA ก่อนจะมาเรียนอย่างจริงจังหลังมาที่ญี่ปุ่น ปีแรกผมเรียนในระดับ N3 ปีที่ 2 ผมเรียน N2 และก่อนที่จะได้เป็นผู้บริบาลผู้สูงอายุ ผมสอบผ่านระดับ N1 ซึ่งเมื่อสอบผ่านแล้ว ผมได้วางแผนในการเป็นผู้บริบาลผู้สูงอายุและผู้จัดการพยาบาลดูแล

 

งานทุกวัน คนเดียว 3 หน้าที่

ตอนนี้ผมทำหน้าที่ทั้งผู้บริบาลผู้สูงอายุ, ผู้บริหาร และผู้จัดการพยาบาลดูแล มีงานบริบาลผู้สูงอายุกับงานบริหารร้อยละ 60-70 ส่วนงานจัดการพยาบาลดูแลอยู่ที่ร้อยละ 30-40 ตลอดทั้งวันผมจะมีงานบริบาลผู้สูงอายุและงานบริหารมากมาย โดยเฉพาะการประชุม (การประชุมของผู้รับผิดชอบในหัวข้อเรื่องสภาพความเป็นอยู่ของผู้ใช้บริการ), มอนิเตอริง (การพูดคุยกับผู้ใช้บริการแบบตัวต่อตัวเพื่อรับฟังความกังวลและความไม่พอใจ) และการพูดคุยกับคนในสถานดูแล ส่วนงานผู้จัดการพยาบาลดูแลนั้นจะทำในเวลาว่างและเวลากลางคืน

 

งานผู้จัดการพยาบาลดูแลผมจะทำที่สถานดูแลเป็นหลัก โดยจะดูแลงานทั้งหมดทั้งการวางแผนการฟื้นฟูร่างกายและการวางแผนโภชนาการให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย ที่เค็นโชไค บาเด็นที่ผมทำงานอยู่จะมีผู้จัดการพยาบาลดูแลอยู่ 3 คน 2 คนที่เหลือเป็นคนญี่ปุ่น คนหนึ่งเป็นผู้บริหารและผู้จัดการพยาบาลดูแล ส่วนอีกคนเป็นผู้จัดการพยาบาลดูแล เรา 3 คนจะพูดคุยกันเรื่องการจัดทำแผนการบริบาลผู้สูงอายุ, การสื่อสาร และหน้าที่ของผู้รับผิดชอบ ผมจะทำงานดูแลผู้สูงอายุด้วยโดยไม่มีการแบ่งแยกประเภทงาน ฟังกันแล้วเหมือนจะวุ่นวายใช่ไหมครับ แต่ก็เป็นงานที่ไม่ต้องทำโอที ทำงานสนุกด้วยครับ

 

สิ่งที่สำคัญที่สุดในงานบริบาลผู้สูงอายุก็คือ “การอยู่เคียงข้าง” ผมจะยึดถือความต้องการของผู้ใช้บริการเป็นอันดับหนึ่ง คนที่เหมาะกับงานผู้จัดการพยาบาลดูแลน่าจะเป็นคนที่รับฟังอีกฝ่ายอย่างตั้งใจและคนที่คิดถึงความสุขของคนอื่น รวมถึงคนที่ชอบเรื่องคอมพิวเตอร์ด้วย (หัวเราะ) งานนี้มีการจัดทำเอกสารเยอะ จำเป็นต้องมีทักษะภาษาญี่ปุ่นครับ